(12) Jantra Mantra / (13) Hill Forts of Rajasthan / (14) Keoladeo National Park


 

(12)Jantra Mantra, Jaipur /Rajasthan

จันทรา มันตรา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในปีค.ศ. 2010 เป็นหอดูดาวกลางแจ้งที่รวบรวมเครื่องมือทางดาราศาสตร์ไว้มากมาย ดูเผินๆ มันคือ แท่งสามเหลี่ยม ต้นสี่เหลี่ยม หลุมกลมๆ เส้นอะไรไม่รู้เยอะแยะ แต่ถ้าได้ไกด์เก่งๆ สักคนมาอธิบายให้ฟัง คุณจะถึงกับทึ่ง! เค้าคำนวนกันได้ยังไง มนุษย์ตัวเล็กๆ ย่อทั้งจักรวาลมาไว้ในที่โล่งกลางแจ้งนี้ได้อย่างไร?

จันทรา มันตรา สร้างโดยมหาราชา จัย สิงห์ ที่ 2 (Jai Singh II) แห่งจัยปูร์ (Jaipur) นำรูปแบบมาจากหอดูดาวที่เดลี พระองค์ทรงสร้างหอดูดาวลักษณะนี้ทั้งหมด 5 แห่งต่างสถานที่กัน ซึ่งหอดูดาวจันทรา มันตราที่จัยปูร์มีขนาดใหญ่ และอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด โดยได้รับการยกย่องโดยองค์การยูเนสโกว่า "เป็นการแสดงออกถึงความชาญฉลาดทางดาราศาสตร์และแนวความคิดทางจักรวาลของราชสำนักโมกุล"

จันทรา มันตรา ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกในปี ค.ศ. 2010

ภาพประกอบจาก flickr.com


 

(13)Hill Forts of Rajasthan

ป้อมปราการบนเขาแห่งราชาสถาน จริงๆ แทบจะทุกเมืองในรัฐราชาสถานมีป้อมปราการเป็นของตัวเอง UNESCO เลยใช้เวลานานหน่อยในการเลือกป้อมฯ ที่มีความพิเศษจริงๆ และก็ได้มา 6 ป้อมฯ ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก ความพิเศษของป้อมเหล่านี้คือ การแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยะในด้านสถาปัตยกรรมการทหารของเหล่า “ราชบุตร” (Rajput ชาวท้องถิ่นในแถบราชาถาน) นอกจากจะสามารถพิชิตความยากในการสร้างป้อมปราการบนเทือกเขาหินแล้ว ยังสามารถสร้างรูปแบบกำแพงและประตูที่สลับซับซ้อนเพื่อป้องกันการโจมตีจากศัตรู แถมภายในป้อมปราการยังเป็นที่ตั้งของ พระราชวัง วัด อาคารบ้านเรือน และแหล่งเก็บน้ำในยามขาดแคลน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และภูมิอันเก่าแก่ของชาวราชาสถานที่สืบกันมายาวนานกว่า 1,000 ปีอีกด้วย อลังการจริงๆ นะ 6 ป้อมมรดกโลกเหล่านั้นประกอบไปด้วย...
1. Chittaurgarh Fort ป้อมชิตโตการ์ท เป็นป้อมที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียและใหญ่ที่สุดในโลก ข้างในมี 4 ปราสาทพระราชวัง,พิพิธภัณฑ์, 4 หอคอย, 19 วัดหลักๆ และ 20 แหล่งเก็บน้ำที่ยังใช้งานได้

2. Gagron Fort
อยู่ห่างจากเมือง Jhalawar ราว 12 กิโลเมตร เริ่มสร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 แล้วเสร็จในศตวรรษที่ 14 ใช้เวลาสร้างนานถึงเกือบ 700 ปี เพราะตัวป้อมตั้งอยู่บนเนินเขาที่ล้อมรอบด้วยน้ำถึง 3 ด้าน อีกด้านเป็นคูน้ำที่ตอนนี้ตื้นเขินไปแล้ว อีกทั้งยังล้อมรอบด้วยเทือกเขาอีกชั้นหนึ่ง นับว่าเป็นป้อมปราการแห่งเดียวในราชาสถานที่มีทั้งน้ำและภูเขาเป็นเกราะป้องกัน


3. Ranthambore Fort
เป็นป้อมปราการที่เก่าแก่ตั้งอยู่บนแนวสันเขา ภายใน อุทยานแห่งชาติรันธัมบอร์ (Ranthambore National Park) ในเขต Sawai Madhopur ราวๆ 130 กิโลฯ จากจัยปูร์ การเดินทางไปเยือนป้อมรันธัมบอร์ เร้าใจและไม่เหมือนป้อมไหนๆ เพราะจะต้องผ่านผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ แถมด้วยการประจันหน้ากับเสือหลายสิบตัว เพราะที่นี่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งดูเสือที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในอินเดีย ด้วยสภาพแวดล้อมที่ตั้งอยู่บนเขา รายล้อมด้วยป่าและสัตว์ป่านานาพันธ์ุ ทำให้ป้อมแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าบุกรุกได้ยากที่สุด แต่ก็ไม่วายถูกครอบครองโดยเหล่านักรบโมกุล กษัตริย์โมกุลได้ยกป้อมรันธัมบอร์เป็นของกำนัลให้กับมหาราชาแห่งจัยปูร์ ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ใช้พื้นที่ป่าเหล่านี้เป็นสนามล่าสัตว์ ก่อนที่ป่าและตัวป้อมจะมาอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลอินเดียในปัจจุบัน


4. Jaisalmer Fort
เป็นป้อมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น นอกจากจะเป็นป้อมที่เก่าแก่อันดับสองในอินเดียแล้ว (ความเก่าเป็นรองเพียงป้อมชิตโตการ์ท) ยังเป็นป้อมเดียวในอินเดียที่มีผู้คนอาศัยอยู่ สร้างจากหินทรายจากทะเลทรายธาร์ สะท้อนแสงดั่งทองยามพระอาทิตย์ขึ้นและตก ตัวกำแพงคล้ายรูปงูเลื้อย ภายในป้อมมีบ้านและวัดเชนที่สร้างด้วยหินทราย ต่างก็แกะสลักอย่างงดงามปราณีตวิจิตรยิ่ง


5. Kumbalgarh Fort
ตั้งอยู่บนเทือกเขาห่างจากอุดัยปูร์ 82 กิโลฯ สร้างและออกแบบโดย เจ้าชายคุมบา (Rana Kumbha) กำแพงป้อมเลาะไหล่เขายาวถึง 36 กิโลฯ กำแพงส่วนหน้าหนาถึง 15 ฟุต ภายในมีวัด 360 วัด เป็นป้อมที่มีความสำคัญหลังการล่มสลายของป้อมชิตโตการ์ท เป็นที่หลบภัยของเหล่ากษัตริย์จากการรุกรานของโมกุล รวมถึงเจ้าชายน้อยอุดัย ซิงค์ที่หนีมาหลบภัยตั้งแต่ยังเป็นทารก จนพระองค์เติบโตมาครอบครองราชบัลลังค์ และสร้างเมืองอุดัยปูร์อันสวยงาม


6. Amber Fort
ตั้งอยู่บนเขาห่างจากจัยปูร์ เมืองหลวงของราชาสถาน 11 กิโลฯ สร้างด้วยหินทรายผสมหินอ่อน ป้อมแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก แต่ละส่วนมีโถง ลานกว้าง และสวนดอกไม้แยกสัดส่วนกันชัดเจน ส่วนที่โดดเด่นคือ พระราชวังที่ประดับประดาด้วยกระจก หรือ Jai Mandir และ Sukh Niwas ซึ่งเป็นลานที่ออกแบบให้ลมพัดพาเอาความเย็นของน้ำจากทะเลสาปด้านล่างขึ้นมาช่วยให้ตัวป้อมเย็นสบาย

ป้อมทั้ง 6 ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกในปี ค.ศ. 2013

Visitors: 105,390